วิชาการค้นคว้าด้วยตนเอง (I30201)
IS1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
IS1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 จุดประกายความคิด
ผลการเรียนรู้ :
1. ตั้งประเด็นปัญหา จากสถานการณ์ปัจจุบันและสังคมโลก
2. ตั้งสมมติฐานและให้เหตุผลที่สนับสนุนหรือโต้แย้งประเด็นความรู้โดยใช้ความรู้
จากสาขาวิชาต่าง ๆ และมีทฤษฎีรองรับ
3. ออกแบบ วางแผน ใช้กระบวนการรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
🍄1. การตั้งปัญหา
ปัญหา : คือ สิ่งที่ต้องการคำตอบ ซึ่งมักจะถามด้วย อะไร (What) ทำไม (Why) และอย่างไร (How) คำถามที่ขึ้นต้นด้วย "อะไร" และ "ทำไม" เป็นการถามหาสาเหตุ หรือ ความสัมพันธ์ของส่วนที่เป็นเหตุกับส่วนที่เป็นผล มีคำอธิบาย ส่วนคำถามที่ถาม "อย่างไร" เป็นการถามหาคำตอบในเชิงอธิบายทฤษฎี
การตั้งคำถาม เป็นการระบุปัญหาและกำหนดขอบเขตของปัญหา ปัญหาจะต้องระบุลงไปให้แน่ชัด โดยทั่วไปแล้ววิธีการตั้งปัญหามักนิยมตั้งในรูปของคำถาม
ดังนั้นในการตั้งปัญหาที่ดี ควรจะอยู่ในลักษณะที่เป็นไปได้ สามารถตรวจสอบปัญหาได้ง่าย และยึดตามข้อเท็จจริงต่างๆ ที่รวบรวมมาได้ ซึ่งอาจมาจากการสำรวจตรวจสอบหรือการทดลอง การสร้างสิ่งประดิษฐ์ก็ได้
ตัวอย่างการตั้งปัญหาที่ทำการสำรวจตรวจสอบโดยการสำรวจหาข้อมูล
ทำไมนักเรียนโรงเรียนดงตาลวิทยาทิ้งขยะไม่ถูกที่
อะไรเป็นเหตุจูงใจให้นักเรียนโรงเรียนดงตาลวิทยาหนีเรียน
ค่านิยมในการรับประทานอาหารของคนในชุมชนงิ้วรายเป็นอย่างไร
สุนัขมีพฤติกรรมการกินอาหารอย่างไร
การปฏิบัติตนและความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักเรียนโรงเรียนดงตาลวิทยาเป็นอย่างไร
"อะไร" และ "ทำไม" เป็นการถามหาสาเหตุ
ตัวอย่างการตั้งปัญหาที่ทำการสำรวจตรวจสอบโดยวิธีการทดลอง
ชนิดของปุ๋ยหมักพืชสดมีผลต่อการเจริญเติบโตของผักคะน้าหรือไม่
ความเข้มแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชอย่างไร
การเจริญเติบโตของพลูด่างขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของตะกอนน้ำหมักชีวภาพหรือไม่
การเรียนรู้คำศัพท์จากคำสัมผัสเสียงมีผลต่อการจำศัพท์ได้หรือไม่
การใช้ปุ๋ยแห้งชีวภาพจากใบจามจุรีมีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดฟางในตะกร้าหรือไม่
มุมในการเอียงเบาะมีผลต่อความสามารถในการม้วนหน้าของคนอ้วนหรือไม่
จุลินทรีย์ EM มีผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดกลิ้นน้ำเน่าเสียหลังจากสภาวะน้ำท่วมหรือไม่
ชนิดของวัสดุที่ใช้กรองไขมันมีผลต่อประสิทธิภาพในการกรองไขมันจากน้ำท้งหรือไม่
ข้อสังเกตในการตั้งปัญหาของการสำรวจโดยวิธีการทดลอง
จะเห็นได้ว่าในการตั้งปัญหาที่จะทำการสำรวจตรวจสอบโดยการทดลองนั้น มีรูปแบบที่สามาราถเขียนได้ง่าย ๆ หลายรูปแบบ ดังตัวอย่างดังนี้
รูปแบบที่ 1 ...............(สาเหตุ)................มีผลต่อ................(ผล)............... หรือไม่
รูปแบบที่ 2 ...............(ผล)....................ขึ้นอยู่กับ.............(สาเหตุ)............. หรือไม่
รูปแบบที่ 3 ...............(สาเหตุ)................ต่างกัน................(ผล)............... จะต่างกันหรือไม่
จากรูปแบบทั้งสามรูปแบบนั้น ถ้านักเรียนสามารถหาสาเหตุและผลของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ นักเรียนก็สามารถนำข้อความที่เป็นสาเหตุและผลไปแทนลงในช่องว่างของปัญหารูปแบบต่าง ๆ ได้
ตัวอย่างปัญหาที่ทำการสำรวจตรวจสอบโดยการสร้างสิ่งประดิษฐ์และทดสอบประสิทธภาพ
กระเป๋าจากกะลามะพร้าว
เครื่องยืดอายุของน้ำในตู้ปลา
เครื่องทำความสะอาดเสื่อในวัด
เครื่องตัดใบตองสำหรับห่อขนม
ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์
เตาเผาขยะลดโลกร้อน
การศึกษาประสิทธิภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเตาเผาขยะลดโลกร้อน
การศึกษาประสิทธิภาพในการกำจัดไขมันของเครื่องล้างจานรักษาสิ่งแวดล้อม
การตั้งสมมติฐาน หมายถึง การคาดคะเนคำตอบของปัญหาที่จะทำการศึกษาค้นคว้า โดยอาศัยข้อมูล ความรู้ หรือประสบการณ์ ที่บอกความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ กับตัวแปรตาม
ความรู้เพิ่มเติม
ตัวแปร (Variables) หมายถึง คุณสมบัติหรือคุณลักษณะหรือปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ศึกษาต้องการจะศึกษาความจริงซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ (สาเหตุของปัญหา)
ตัวแปรตาม (ผลที่เกิดจากสาเหตุของปัญหา)
ตัวแปรควบคุม (สิ่งที่ต้องควบคุมให้เหมือนกัน เพื่อไม่ให้การศึกษาคลาดเคลื่อน)
รูปแบบการเขียนสมมติฐาน
การตั้งสมมติฐานมักขึ้นต้นด้วย "ถ้า"........(ตัวแปรต้น).......ต่อด้วยคำว่า "แล้ว".....(ตัวแปรตาม).......
หรือ "ถ้า"........(ตัวแปรต้น).......ต่อด้วยคำว่า "ดังนั้น".....(ตัวแปรตาม).......